31 December 2014

วันสิ้นปี

ผมมีความรู้สึกว่า เดือนธันวาคม เป็นเดือนที่สั้นที่สุดบนปฏิทินความรู้สึก เพราะเมื่อไรที่ถึงช่วงเวลาใกล้สิ้นปีแบบนี้ เวลามักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เหมือนเดือนนี้ จะไม่มีช่วงกลางเดือน ยังไงยังงั้น เริ่มเดือนมา ก็เจอช่วงสิ้นเดือนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และน่าแปลกที่ว่า เรามักอยากจะวางแผน ทำอะไรบางอย่าง ให้สมกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านปีเก่าไปสู่ปีใหม่แบบนี้ แต่ก็จะมักจะเคลิ้มไปกับรรยากาศ จนมารู้ตัวอีกที ก็พ้นช่วงปีใหม่ ต้องเริ่มต้นทำงานต่อไป ในตอนต้นเดือน มกราคม อีกแล้ว ทุกที

ช่วงเวลาใกล้ปีใหม่แบบนี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมชอบมากๆ ไม่ใช่เพราะชอบการเฉลิมฉลอง แต่เพราะมันคือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการที่เราจะรีเซ็ท สิ่งที่เราไม่อยากทำ และเริ่มต้นอะไรบางอย่าง ที่เราอยากทำ ให้กับชีวิต อาจเรียกว่าเป็นความรู้สึก อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยความว่าเรายังเป็นปุถุชนที่ยังมีข้อเสียอยู่อีกมาก ถ้าเราไม่คิดเริ่มเปลี่ยนแปลง วันหนึ่ง เราคงต้องถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างที่เคยได้ยินฝรั่งบอกไว้ว่า Change before you're forced to change ตอนสมัยที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเรื่อง Change Management อยู่

การเปลี่ยนแปลง จะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งเราคงไม่ควรไปเครียดกับมัน แต่ควรมองกลับมาที่ปัจจุบัน ถึงขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลง มากกว่า ว่าเราจะวางทางเดินอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่ได้ผลดีที่สุด ก็คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่เราติดเป็นนิสัย จากนิสัยหนึ่ง ไปสู่อีกนิสัยหนึ่ง ได้อย่างถาวร

ไหนๆ ก็เคยทำงานเกี่ยวกับเรื่อง Change Management มาก่อน แม้จะนานมาแล้ว ก็อยากจะขูดความทรงจำ เอาหลักคิดที่ฝรั่งใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร ซึ่งผมคิดว่าน่าจะประยุกต์ใช้ กับการเปลี่ยนแปลงนิสัยระดับบุคคลได้เช่นกัน โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงอยู่ 3 ช่วง คือ

1. Ending and Let go
2. Transition
3. Beginning


ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมเริ่มต้นด้วย Ending แต่จบด้วย Beginning เพราะ สิ่งที่ต้องการจบ (Ending) คือ พฤติกรรมเก่าๆ และที่ต้องการเริ่มต้น (Beginning) คือ พฤติกรรมใหม่ ที่เราต้องการนั่นเอง

Ending and Let go คือ การหยุดพฤติกรรมเก่า ช่วงนี้ จะเรียกว่า เป็นช่วงว้าวุ่นใจ ไม่อยากเริ่ม คนที่คิดจะเปลี่ยนแปลง มักจะตายตั้งแต่ช่วงนี้ คือ คิดเยอะเกินไป ไม่ยอมเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณบัณฑิต อึ้งรังษี ให้สูตรเด็ดไว้ว่า ให้เผาสะพานทิ้งไป (Burn the bridges behind) นั่นคือ ต้องตั้งปณิธานกับตัวเองว่า นิสัยเก่าๆ ฉันไม่เอาอีกแล้ว ไม่มีทางกลับไปหาพฤติกรรมเดิมๆอีกแล้ว ต้องให้ได้อารมณ์ประมาณนั้น ไม่งั้น มันจะไม่ยอมเดินหน้า มัวแต่คิดว่า ถ้าไม่สำเร็จจะกลับไป และสุดท้ายมันจะกลับไปหานิสัยเก่าๆ เดิมๆ ทุกที ถูกมั้ยครับ

Transition คือ ช่วงการกลายพันธุ์ จากการค่อยๆลด ละ เลิก นิสัยเดิม แล้วค่อยๆคุ้นชินกับนิสัยใหม่ ที่ตั้งใจไว้ ในระยะนี้ สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ การสัมผัสได้ถึงความก้าวหน้า ดังนั้น ควรที่จะมีเป้าหมายที่ซอยย่อย ให้เล็กๆ เพื่อที่เราจะได้บรรลุเป้าหมายได้ต่อเนื่องตลอดทาง แน่นอนว่า คนเราถ้าเดินไปแล้ว ไม่ถึงเป้าหมายเสียที ก็คงหยุดเดินดีกว่า และเมื่อเราบรรลุเป้าหมายเล็กๆไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เข้าใกล้เป้าหมายใหญ่ โดยไม่รู้ตัว และแน่นอนว่า เราจะมีความสุขในขณะที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย

Beginning คือ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตัวเอง จนถึงจุดที่เรียกได้ว่า เออ ฉันมีนิสัยใหม่แล้ว งานก็ยังไม่จบนะครับ เพราะคนเราต้องการการยืนยัน ในขณะที่กำลังคึกคัก เพื่อรักษาแรงเฉื่อย (Inertia) ให้มันสามารถรักษานิสัยใหม่นี้ ได้อย่างมั่นคง สิ่งที่ควรทำให้ช่วงเวลานี้ คือ การจุดพลุ เริ่มต้นเฉลิมฉลองกับตัวเอง เพื่อบอกกับตัวเองว่า ฉันได้มาถึงเส้นชัยแล้ว โดยอาจเป็นการกินมื้อพิเศษ ไปเที่ยวยังสถานที่ที่อยากไป ให้ของขวัญที่อยากได้ หรือทำอะไรให้กับตัวเอง เล็กๆน้อยๆ ก็ได้ จากนั้น ก็วางเป้าหมายต่อไป ให้เราได้เดินหน้าต่อ ขั้นตอนนี้ สำคัญมาก เพราะหลายคนลืมที่จะให้รางวัลตัวเอง เพื่อผูกนิสัยใหม่ กับภาพความสำเร็จให้ชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นผลทางจิตวิทยา

ผมคิดว่า หลักการง่ายๆ 3 ข้อนี้ น่าจะช่วยให้เราเข้าใจ จิตใจของเรา ในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะรับมือกับช่วงเวลานั้นๆ ได้อย่างราบรื่น  เพื่อให้ปีใหม่ เป็นปีแห่งพฤติกรรมใหม่ ที่เราต้องการ ได้อย่างที่ตั้งใจไว้เสียที ... สำหรับผมเอง ปีใหม่นี้ ก็ถือว่าได้เริ่มต้นลงมือทำอะไรบางอย่างแล้ว เช่นกัน ตั้งแต่เช้า ที่ตื่นเช้ามาออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ปฏิบัติธรรม และสุดท้าย ก็คือ การลงมือเขียนบทความ ใน Blog ของตัวเอง ให้ได้อย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ ก็ได้เริ่มแล้วครับ

เรามาช่วยเป็นกำลังใจ ให้กันและกันครับ สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
พรุ่งนี้ ก็ปีใหม่แล้ว .... สู้ๆ ครับ

0 comments:

Post a Comment